> พลังงานลม
สำหรับประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ทำการศึกษาถึงแหล่งศักยภาพพลังงานลม รวบรวมข้อมูลและจัดทำแผนที่ลม (Wind Map) พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย
มีศักยภาพความเร็วลมต่ำ โดยในแผนที่ศักยภาพพลังงานลมของประเทศไทย
พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ใน พื้นที่สีเขียวเข้ม เขียวอ่อน และเหลือง
โดยแหล่งศักยภาพพลังงานลมที่ดีของประเทศไทย คือ บริเวณโซนพื้นที่
สีแดงในแผนที่ศักยภาพพลังงานลม ซึ่งจะพบได้ที่ภาคใต้บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเลสาบสงขลา จากข้อมูล
การศึกษาของภาคเอกชนยังค้นพบว่า พื้นที่จังหวัดลพบุรี นครราชสีมา และชัยภูมิ ยังมีศักยภาพด้านพลังงานลมที่ดีเหมาะสำหรับการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์
กองทัพอากาศโดย คณะอนุกรรมการพลังงานทดแทนด้านพลังงานลม
ได้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม ในพื้นที่อยู่ในการดูแลของกองทัพอากาศที่มีศักยภาพพลังงานลม โดยอาศัยโปรแกรม Wind Map สำรวจหาพื้นที่ที่มีศักยภาพ และนำชุดอุปกรณ์วัดสภาพอากาศไปทำการติดตั้งและบันทึกข้อมูลความเร็วลม เพื่อศึกษาหาพื้นที่ที่มีศักยภาพ ความเหมาะสมในการดำเนินโครงการติดตั้งกังหันลมของกองทัพอากาศต่อไปในอนาคต โดยในปัจจุบันในส่วนของกองทัพอากาศได้เริ่มดำเนินการทดลองติดตั้งระบบกังหันลม ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการศึกษาเรียนรู้การทำงานของระบบกังหันลมในพื้นที่ของ กองทัพอากาศในภาคใต้ 3 แห่ง ประกอบด้วย
1) สถานีรายงานสมุย ติดตั้งกังหันลมขนาด 2.4 กิโลวัตต์ จำนวน 3 ชุด
2) สถานีรายงานภูเก็ต ติดตั้งกังหันลมขนาด 2.4 กิโลวัตต์ จำนวน 3 ชุด และ
3) สถานีรายงานเขาเขียว ติดตั้งกังหันลมขนาด 5 กิโลวัตต์ จำนวน 5 ชุด
โดยทั้ง 3 แห่ง เป็นการติดตั้งกังหันลมแบบเชื่อมต่อกับระบบสายส่งเพื่อใช้โหลดไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่นั้น ๆ