> ศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทน ทอ.
การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ เป็นโครงการหนึ่งของกองทัพอากาศที่ได้รับอนุมัติเข้าร่วมเป็น "โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554"
กองทัพอากาศ มีวัตถุประสงค์ที่จะให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งการวิจัย
การเรียนรู้ชุมชนในการส่งเสริมสนับสนุนและบริการข้อมูลด้านพลังงานทดแทนให้ข้าราชการ ครอบครัวและประชาชนโดยรอบ ณ พื้นที่บริเวณทุ่งสีกัน
ด้วยการจัดสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยการแสดงองค์ความรู้ในพลังงานด้านต่าง ๆ อย่างครบวงจร
การดำเนินงานจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ
เริ่มต้นเตรียมการในปี 2553 มีการกำหนดพื้นที่ก่อสร้างและกำหนดวงเงิน
งบประมาณ รวมถึงขออนุมัติเข้าเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ในปี 2554 ได้กำหนดรายละเอียดแบบอาคารและจัดทำสัญญาจ้างก่อสร้าง รวมถึงจ้างติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์และกังหันลม แต่เนื่องจากการก่อสร้างประสบปัญหาจากอุทกภัยจึงขยายระยะเวลาการก่อสร้าง งานดังกล่าวจึงเสร็จสิ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2555 มีการจัดจ้างตกแต่งห้องแสดงนิทรรศการและภูมิสถาปัตย์ รวมถึงติดตั้งระบบโสตทัศนูปกรณ์และจัดทำสื่อวีดิทัศน์ พร้อมดำเนินกิจการได้เมื่อเดือนมีนาคม 2556
ศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ จัดการแสดงแบ่งเป็นอาคารต่าง ๆ จำนวน 5 อาคาร ตามลักษณะพลังงานทดแทน 4 ด้านที่กองทัพอากาศดำเนินการอยู่คือ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และพลังงาน
ไบโอดีเซล กับมีอาคารบ้านตัวอย่าง ที่สาธิตการนำพลังงานทดแทนมาใช้งานในแต่ละอาคาร มีการจัดแสดงอุปกรณ์พลังงาน
ทดแทนจริง แบบจำลอง บอร์ดนิทรรศการ และสื่อวีดิทัศน์ ซึ่งจะแสดงองค์ความรู้ในพลังงานทดแทนด้านต่าง ๆ รวมถึง
ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงการดำเนินการด้านพลังงานทดแทนของกองทัพอากาศ
อาคารบ้านตัวอย่าง
จัดแสดงการนำพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การใช้ไฟฟ้าซึ่งผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ภายในศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ อีกทั้งยังมีเตาแก๊สที่ใช้ก๊าซชีวภาพเพื่อการประกอบอาหารในครัวเรือน อาคารบ้านตัวอย่างได้รับการออกแบบให้มีอากาศถ่ายเทได้อย่างสะดวก แสงอาทิตย์จะเข้ามาในตำแหน่งที่ก่อให้เกิดความสว่างกับตัวบ้านในเวลากลางวัน แต่ไม่ก่อให้เกิดความร้อน อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในบ้าน เป็นอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน เช่น หลอดไฟฟ้า LED สื่อวีดิทัศน์ในอาคารบ้านตัวอย่าง กล่าวถึงความเป็นมาในเรื่องพลังงานทดแทน ปัญหาที่เกี่ยวข้อง พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านพลังงานทดแทน แนวนโยบายระดับชาติที่
เกี่ยวข้อง นโยบายและการดำเนินงานด้านพลังงานทดแทนของกองทัพอากาศ ตลอดจนแนะนำสิ่งที่ผู้เข้าชมจะได้พบใน
ศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ
อาคารพลังงานชีวมวล
พลังงานชีวมวล คือ พลังงานที่ได้จากการแปรรูปชีวมวลที่มาจากชีวะ หรือสิ่งมีชีวิต จากพืชและสัตว์ อาคารพลังงานชีวมวล เป็นแหล่งองค์ความรู้ในการผลิตก๊าซชีวภาพและก๊าซชีวมวล จากเศษวัสดุเหลือใช้ เพื่อนำมาใช้ทดแทนก๊าซ LPG และใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยก๊าซชีวภาพ (Biogas) เกิดจากกระบวนการหมักของวัตถุดิบ เช่น
เศษอาหารและมูลสัตว์ ในที่อับอากาศ จุลินทรีย์จะทำให้วัตถุดิบย่อยสลาย และเกิดเป็นก๊าซมีเทน ส่วนก๊าซชีวมวล (Biomass Gas) เกิดจากกระบวนการเผา หรือให้ความร้อนวัตถุดิบโดยไม่ใช้อากาศทำให้วัตถุดิบสลายตัว เรียกว่ากระบวนการ แก๊สซิฟิเคชั่น เกิดก๊าซเชื้อเพลิง ซึ่งประกอบด้วย คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจน และมีเทน วัตถุดิบที่ใช้ทำก๊าซชีวมวล ได้แก่ ไม้ฟืน แกลบ ชานอ้อย กากปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบมะพร้าว สาหร่าย ส่าเหล้า เศษไม้ เศษหญ้า หรือเศษเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร ก๊าซชีวมวล สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนโดยตรง หรือป้อนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ด้านนอกอาคารพลังงานชีวมวล มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหาร ขนาด 40 กิโลกรัมต่อวัน สามารถผลิตก๊าซชีวภาพ ได้วันละ 4 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเทียบเท่าก๊าซ LPG ปริมาณ 1.84 กิโลกรัม
อาคารพลังงานลม
ลม เกิดจากการแทนที่ของอากาศ เมื่อบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงอากาศขยายตัวและลอยตัวสูงขึ้นขณะเดียวกัน
อากาศในบริเวณที่เย็นกว่าจะไหลเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดลม ในอาคารพลังงานลม จัดแสดง อุปกรณ์ แบบจำลองอธิบายการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม พร้อมกับอุปกรณ์ที่จะให้ความสนุกสนานในการทดลองสร้างกระแสไฟฟ้าด้วยตนเอง
นอกจากนั้นยังมีการแสดงเครื่องวัดลม และกังหันลมแบบต่าง ๆ ส่วนด้านนอกอาคารพลังงานลม มีกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 1 กิโลวัตต์ จำนวน 3 ชุด เชื่อมต่อแบบผสมผสานร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์
อาคารพลังงานแสงอาทิตย์
ปัจจุบันมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตความร้อน และ การผลิตไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ การผลิตไฟฟ้าด้วยระบบรวมแสงอาทิตย์ เพื่อต้มน้ำป้อนให้กังหันไอน้ำขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
อีกลักษณะหนึ่ง คือการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ Solar Cell โดยการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้า
โดยตรงคือ เมื่อแสงกระทบกับเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำจะเกิดการถ่ายทอดพลังงานระหว่างกัน ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าขึ้น ในอาคารพลังงานแสงอาทิตย์ มีการจัดแสดง เซลล์แสงอาทิตย์แบบต่าง ๆ รวมถึงจัดแสดงอุปกรณ์ผลิตน้ำร้อนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบต่าง ๆ นอกอาคารพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ กำลัง 10 กิโลวัตต์ และบนหลังคาอาคารติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มเติมอีก 6 กิโลวัตต์
อาคารพลังงานไบโอดีเซล
ไบโอดีเซล เป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ โดยผ่านขบวนการ "ทรานเอสเทอริฟิเคชั่น" ที่
ทำให้โมเลกุลเล็กลงให้อยู่ในรูปของเอทิลเอสเตอร์หรือเมทิลเอสเตอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลมาก และสามารถใช้ทดแทนกันได้ ในอาคารพลังงานไบโอดีเซล มีเครื่องผลิตไบโอดีเซล ขนาดกำลังการผลิต 50 ลิตรต่อครั้ง เป็นแหล่งผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ให้ออกมามีคุณภาพเทียบเคียงกับน้ำมันดีเซล
นอกจากนี้ที่ศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ ยังมีการจัดแสดงอุปกรณ์นิทรรศการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพิ่มเติม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและภารกิจของกองทัพอากาศในอนาคต ได้แก่ พลังงานไฮโดรเจน ประกอบด้วย ระบบผลิตก๊าซไฮโดรเจนโดยการแยกสลายน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) ขนาด 600 ลิตรต่อชั่วโมง กับเซลล์เชื้อเพลิงชนิดเยื่อแลกเปลี่ยนโปรตอน (Proton Exchange Fuel Cell) ขนาด 250 วัตต์, ระบบสาธิตการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ด้วยกระบวนการฟิชเชอร์-ทรอปซ์, ระบบสาธิตการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก และระบบสาธิตการผลิตก๊าซชีวภาพอัด CBG สำหรับใช้กับรถยนต์